Loading...

ประวัติคณะสาธารณสุขศาสตร์

 

          มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีนโยบายขยายการจัดการศึกษากลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ เดิมมีเพียง คณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์และคณะสหเวชศาสตร์ จึงได้มีแผนจัดตั้งคณะสาธารณสุขศาสตร์ เพื่อผลิตบุคลากรด้านสาธารณสุขซึ่งเป็นที่ต้องการของประเทศอย่างมาก ในการประชุมทบวงมหาวิทยาลัย ครั้งที่ 2/2539 วันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2539 ได้เห็นชอบบรรจุโครงการจัดตั้งไว้ในแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535 – 2539) และฉบับที่ 8 (2540 – 2544) ตามลำดับ แต่ไม่สามารถจัดตั้งได้ในช่วงเวลาดังกล่าวเนื่องจากในปี พ.ศ. 2540 เกิดภาวะวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นในประเทศไทย คณะรัฐมนตรีจึงมีมติในการประชุมวันที่ 14 ตุลาคม 2540 ให้ชะลอการจัดตั้งหน่วยงานที่เป็นส่วนราชการ

          ต่อมาในปี พ.ศ. 2543 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ทบทวนโครงการจัดตั้ง คณะสาธารณสุขศาสตร์อีกครั้งและได้มีคำสั่งที่ 1052/2543 ลงวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 แต่งตั้งคณะกรรมการโครงการจัดตั้งคณะสาธารณสุขศาสตร์ เพื่อพิจารณาดำเนินการโครงการจัดตั้งคณะสาธารณสุขศาสตร์ ที่ได้รับการบรรจุในแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2540 - 2544) โดยในระหว่างเดือนมกราคม พ.ศ.2545 ถึงเดือนเมษายน พ.ศ.2546 ได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งคณะสาธารณสุขศาสตร์ ผลการศึกษาสรุปว่า คณะสาธารณสุขศาสตร์ ควรจัดการเรียนการสอนทั้งระดับปริญญาตรี และระดับบัณฑิตศึกษา เพื่อผลิตบุคลากรด้านสาธารณสุขที่มีความรู้ความสามารถในการดูแลควบคุม ป้องกันโรค และส่งเสริมสุขภาพ เพื่อสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยของประชาชน มีการจัดกระบวนการเรียนการสอน การวิจัยที่แตกต่างจากสถาบันอื่นอย่างเด่นชัด และบูรณาการกับสาขาวิชาชีพอื่นที่เป็นจุดเด่นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไว้ในหลักสูตร เช่น ด้านสังคมศาสตร์ การบริหารจัดการ พาณิชยศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ กฎหมาย และหลักสูตรควรมีความสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ แต่ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545–2549) สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาได้แจ้งมหาวิทยาลัย/สถาบัน ว่ายังคงยืนยัน มติคณะรัฐมนตรีในเรื่องการชะลอการจัดตั้งเป็นหน่วยงานที่เป็น ส่วนราชการใหม่ หากมหาวิทยาลัยพิจารณาเห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องจัดตั้งหน่วยงานใหม่ขอให้สภามหาวิทยาลัยเป็นผู้พิจารณา กำหนดนโยบายและพิจารณาอนุมัติในลักษณะจัดตั้งเป็นหน่วยงานอิสระในกำกับของมหาวิทยาลัย ซึ่งสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีมติให้บรรจุ โครงการจัดตั้งคณะสาธารณสุขศาสตร์เป็นหน่วยงานใหม่ ในลักษณะหน่วยงานอิสระในกำกับของมหาวิทยาลัยไว้ในแผนพัฒนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการประชุมครั้งที่ 9/2546 เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2546 และในการประชุมสภาสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 8/2548 เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ.2548 ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งคณะสาธารณสุขศาสตร์ เป็นหน่วยงานอิสระในกำกับของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยการยกฐานะจากภาควิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2548 โดยในปีการศึกษา 2548 คณะสาธารณสุขศาสตร์เริ่มเปิดสอน โดยได้จัดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรีเพียงหลักสูตรเดียว คือ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยดำเนินการต่อเนื่องมาจากภาควิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งได้เปิดสอนหลักสูตรดังกล่าวมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2529 และได้ปิดหลักสูตรโดยงดรับนักศึกษาใหม่ในปีการศึกษา 2550 ต่อมาได้ขยายโอกาสทางการศึกษาไปสู่ภูมิภาค โดยเริ่มเปิดสอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ระดับปริญญาโทเริ่มเปิดสอนในปีการศึกษา 2557 และระดับปริญญาตรีเริ่มเปิดสอนปีการศึกษา 2559

          คณะสาธารณสุขศาสตร์ ได้พัฒนาหลักสูตรและจัดการเรียนการสอนเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง โดยจัดการเรียนการสอนทั้งศูนย์รังสิต และศูนย์ลำปาง คือ

          ระดับปริญญาตรี หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
          ศูนย์รังสิต มี 3 สาขาวิชา  ได้แก่   
               1) สาขาวิชาการสร้างเสริมสุขภาพเชิงนวัตกรรม
               2) สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม 
               3) สาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

          และศูนย์ลำปาง มี 3 สาขาวิชา ได้แก่ 
               1) สาขาวิชาอนามัยชุมชน 
               2) สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม
               3) สาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

          ระดับปริญญาโท (ไทย) 3 หลักสูตร ได้แก่ 
               1) หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการสุขภาพ ความปลอดภัย และอนามัยสิ่งแวดล้อม
               2) หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
               3) หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสาธารณสุขและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

          ระดับปริญญาเอก (ไทย) 1 หลักสูตร คือ หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาสาธารณสุขและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

          หลักสูตรนานาชาติ 4 หลักสูตร ได้แก่
               1) MSc. Occupational and Environmental Health
               2) MPH Global Health
               3) PhD. Occupational and Environmental Health
               4) PhD. Global Health

 

ปณิธาน

“นักสาธารณสุขศาสตร์เพื่อสังคม”

วิสัยทัศน์ (Vision)

สถาบันการศึกษาที่มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพ ความปลอดภัย และความเป็นอยู่ที่ดีของสังคมแห่งอนาคต

Change agent in health, safety and well-being for future society

พันธกิจ (Mission)

1. ผลิตบัณฑิตสาธารณสุขในการดูแลสุขภาพ ความปลอดภัย และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน และมีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21

2. สร้างองค์ความรู้ผ่านงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อนำมาใช้เป็นประโยชน์ในการชี้นำ ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะหรือกฎหมายสุขภาพ ความปลอดภัย และมีความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม

3. สร้างงานบริการวิชาการโดยใช้องค์ความรู้เพื่อเป็นที่พึ่งของชุมชนและสังคม และนวัตกรรมบริการด้านสุขภาพ ความปลอดภัย และความเป็นอยู่ที่ดี

4. การบริหารจัดการเพื่อสนับสนุนการดำเนินการที่มีคุณภาพ คุณธรรม และมีความรับผิดชอบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมบุคลากรให้ทำงานอย่างมีความสุข มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมถึงการสร้างความมั่นคงทางการเงิน

ค่านิยมองค์กร (Value)

C - A - R - E

C - Cultural awareness เคารพและปฏิบัติต่อผู้คนอย่างเป็นธรรมบนพื้นฐานความแตกต่างของแต่ละบุคคล สามารถสร้างความรู้สึกเป็นทีมเดียวกันได้ เพื่อให้เกิดผลสำเร็จสูงสุด

A - Active learner พัฒนาตนอยู่เสมอ รู้เท่าทันจุดแข็งจุดอ่อนของตัวเอง ยืดหยุ่นในวิธีการคิด มีกระบวนการคิดวิเคราะห์อย่างรอบด้าน เพื่อเข้าใจปัญหาหรือสถานการณ์ และสามารถตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

R - Responsible for society รับผิดชอบสังคม มีจิตสาธารณะ (public mind) คิดถึงผลลัพธ์ในภาพรวมมากกว่าส่วนบุคคล คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย และมุ่งมั่นปรับเปลี่ยนกระบวนการต่าง ๆ เพื่อให้ได้ผลตามเป้าหมายที่กำหนด

E - Entrepreneurship มีแนวคิดทันสมัย สรรสร้างนวัตกรรม วิเคราะห์ความเสี่ยง รู้จักเรียนรู้จากความล้มเหลว มีกรอบความคิดเชิงความยืดหยุ่น (Resilience Mind-set) ปรับตัวและฟื้นฟูได้อย่างรวดเร็วเมื่อเผชิญกับความท้าทายหรืออุปสรรค รู้จักแสวงหาเครือข่าย และเข้าใจระบบบริหารจัดการงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ

สมรรถนะหลัก (Core Competencies)

การบูรณาการทำงาน

วัฒนธรรมองค์กร (Organization Culture)

การทำงานเป็นทีม และจิตอาสา

คุณลักษณะบัณฑิต (Student Characteristics)

1. Entrepreneurship

2. Resilience (Flexibility / Adversity quotient)

3. Leadership (Accountability and Responsibility, Collaboration, Empowerment, Share information, Prioritization, Trustworthy)

4. Communication (Listening skill, Negotiation)

5. System thinking (Analytical ability, Core comprehension, Diversified knowledge, Global mind-set)